วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

การนำวิทยุโทรทัศน์มาใช้ในการศึกษา

9.5.1 ประเภทของรายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา การจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ถ้าแบ่งตามวัตถุ ประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1) รายการเพื่อการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป (Informal Education) เป็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ทั่วไปแก่ประชาชน เพื่อความกินดีอยู่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
2) รายการเพื่อการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) เป็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนโดยจัดให้สอดคล้องกับหลักสูตร ประมวลการสอน และวิธีสอน เพื่อช่วยการเรียนการสอนของครูและนักเรียนในโรงเรียน
3) รายการเพื่อการศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non Formal Education) เป็นรายการที่จัดขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน อาจเป็นรายการที่เป็นไปตามหลักสูตรหรือเป็นการสอนเสริมตามหลักสูตรในระบบโรงเรียน หรือเป็นการศึกษากลุ่มสนใจเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพและสภาพแวดล้อมการแบ่งประเภทรายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษานี้ ตำราบางเล่มอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เท่านั้นคือ
1) รายการความรู้ทั่วไป เป็นรายการที่มุ่งให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป การจัดรายการประเภทนี้ อาจทำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ - รายการสาระบันเทิง เป็นรายการที่เน้นด้านเนื้อหาสาระ โดยสอดแทรกความบันเทิงไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ชมเกิดความเบื่อหน่าย เช่น รายการสารคดี รายการตอบปัญหา ละครชีวิตต่อต้านยาเสพติด - รายการส่งเสริมการศึกษา เป็นรายการที่มุ่งให้เนื้อหาสาระที่ชัดเจนแก่ผู้ชม มักจัดรายการเป็นชุด เช่น รายการชุดชีวิตสัตว์ ชีพจรลงเท้า ความรู้คือประทีป
2) รายการเพื่อการสอน เป็นรายการที่ผลิตขึ้นเพื่อการสอนตามหลักสูตรในระดับใดระดับหนึ่ง รายการมีลักษณะเป็นบทเรียน แบ่งเป็นตอน ๆ มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ และมีการวัดผลการเรียนจากการชมรายการด้วย อาจจัดได้เป็น 3 ลักษณะคือ - รายการทำหน้าที่สอนทั้งหมด เป็นรายการที่สอนเบ็ดเสร็จในตัว ทำหน้าที่แทนครู - รายการทำหน้าที่สอนเนื้อหาหลัก เป็นรายการที่สอนเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญต้องอาศัยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ อธิบาย ขยายความ หรือให้ทำกิจกรรมเสริม - รายการทำหน้าที่เสริมการสอน เป็นรายการที่จัดขึ้น เพื่อเสริมการสอนของครูให้สมบูรณ์ขึ้น เช่น การแสดงละคร การสาธิต หรือการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
9.5.2 รูปแบบการจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
1) รายการสดที่จัดขึ้นในห้องส่ง แล้วถ่ายทอดออกอากาศโดยตรง รายการ ลักษณะนี้อาจมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้
2) รายการถ่ายทอดสดจากภายนอก ส่วนมากเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในสังคม และประชาชนส่วนใหญ่สนใจ
3) รายการที่บันทึกเทปไว้ล่วงหน้า เฉพาะสำหรับรายการที่ต้องเตรียมการล่วงหน้า และต้องการควบคุมเพื่อป้องกันความผิดพลาด
4) รายการจากภาพยนตร์โทรทัศน์ ได้แก่ภาพยนตร์ข่าว บันเทิง สารคดี ฯลฯ ซึ่งนำมาฉายแพร่ภาพออกอากาศ
9.5.3 การใช้โทรทัศน์วงจรปิดเพื่อการสอน ปัจจุบันตามสถานศึกษานิยมใช้โทรทัศน์วงจรปิดเพื่อการศึกษากันแพร่หลาย โดย เฉพาะในรูปของวีดีโอเทป ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบดังนี้
1) ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน โดยจัดทำเป็นบทเรียนสำเร็จรูป แล้วนำมาฉายให้นักศึกษาชม ทำหน้าที่แทนครู
2) ใช้เสริมการสอนของครู โดยนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการสอน ซึ่งผู้สอนจะต้องวางแผนเตรียมการล่วงหน้า
3) ใช้เสริมการเรียนของนักศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษานำวีดีโอเทปไปเปิดดูตามลำพังในยามว่าง
4) ใช้เป็นเครื่องมือในการสาธิต หรือใช้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยให้นักศึกษามองเห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด
5) ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามองเห็น ข้อบกพร่องของตนเองเพื่อหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น
6) ใช้เป็นเครื่องมือในการรวบรวมเหตุการณ์ และความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ โดยการบันทึกเรื่องราวลงไว้ในเส้นเทป อาจบันทึกจากรายการโทรทัศน์ จากภาพยนตร์หรือจากกล้องโทรทัศน์ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: